เผยแพร่เมื่อ : ศุกร์ 21 กันยายน 2561 โดย นางปภาดา พลอยอิ่ม จำนวนผู้เข้าชม 612 คน
วันที่ 21 กันยายน 2561 ศูนย์วัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก จัดพิธีทำบุญถวายภัตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ จำนวน 23 รูป เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก (วันก่อตั้งโรงเรียนเกษตรกรรมพิษณุโลก เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2496) โดยมี อ.สุรีย์พร ใหญ่สง่า รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและสวัสดิการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นประธาน พร้อมด้วย ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และ นักศึกษา ร่วมงาน ณ อาคารวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก ตั้งอยู่ที่ ๕๒ หมู่ ๗ ตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก อยู่ห่างจากตัวจังหวัดพิษณุโลกเป็นระยะทางประมาณ ๑๒ กิโลเมตร ตรงตามเส้นทางถนนสิงหวัฒน์ (พิษณุโลก-สุโขทัย) หรือถนนสาย ๙ จากจ.พิษณุโลก ไป จ.สุโขทัย
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก มีเนื้อที่ทั้งหมด ๕๗๒ ไร่ ๓ งาน ๑๕ วา ให้สำนักงานเกษตรอำเภอเมือง ใช้ประโยชน์ ๒๕ ไร่ โดยจัดตั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๔๙๖ ในนาม โรงเรียนเกษตรกรรมพิษณุโลก
โดยเปิดสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย “แผนกเกษตรกรรม” มีหลักสูตร ๓ ปี เปิดรับนักเรียนที่จบจากอาชีวศึกษาตอนต้น และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ และรับนักเรียนเข้าเรียนในต้นปีการศึกษา ๒๔๙๗ มีจำนวนนักเรียนจํานวน ๔๐ คนโดยกระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งให้ นายธํารง บุญรังศรี วุฒิการศึกษา ป.ป.ก. มาเป็นดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนเกษตรกรรมพิษณุโลก
พ.ศ.๒๔๙๗ – ๒๕๐๖ เปิดรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แผนกเกษตรกรรมหลักสูตร ๓ ปี โดยรับนักเรียนที่จบชั้น ม.๓ และ ป.๗
ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๐๗ โรงเรียนได้อนุมัติจากกรมอาชีวศึกษา ให้เปิดเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา ตอนปลายสายอาชีพ “แผนกเกษตรกรรม” (ม.ศ. ๔-๕-๖) งดรับนักเรียนระดับ ป. ๗ (ม.๓ เดิม) และขยายหลักสูตรเป็นมัธยมศึกษาตอนปลาย สายอาชีพ แผนกเกษตรกรรม โดยรับนักเรียนที่จบชั้น ม.ศ.๓ (ม.๖ เดิม) และผู้จบมัธยมศึกษาตอนต้น แผนกเกษตรกรรม
โดยรับนักเรียนที่จบจากชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.ศ. ๓) และชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสาย
“แผนกเกษตรกรรม”มีหลักสูตร ๓ ปี และงดรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น รับนักเรียนเข้าเรียน ๒ ห้องเรียน มีนักเรียนจํานวน ๘๕ คนทั้งชายและหญิง การดําเนินงานของโรงเรียนตั้งแต่ปี ๒๔๙๗ เป็นต้นมา โดยมีการบุกเบิกที่ดินเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชไร่และพืชสวน โดยมีข้าวโพด ถั่วเขียว ข้าวฟ่าง อ้อย ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง มะม่วง ฯลฯ
พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัย โดยใช้ชื่อว่า “วิทยาลัยเกษตรกรรมพิษณุโลก” ได้เพิ่มหลักสูตรต่อไปอีก ๒ ปี รวมเป็น ๕ ปี ตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) แผนกเกษตรกรรม
ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๓๑ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ได้รับพระราชทานนามใหม่จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพิษณุโลก” หรือมีนามเรียกขานว่า “ราชมงคลพิษณุโลก”
และจากนั้นมา มีการเปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตร ๔ ปี สาขาพืชศาสตร์ สัตวศาสตร์ สาขาประมง และ ระดับ ปวส. เพิ่มขึ้นหลายสาขา
ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จัดตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลจำนวน ๙ แห่ง ขึ้นแทนสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล โดยมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลเทียบเท่ากรม มีหน้าที่จัดการศึกษาระดับปริญญาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง ๙ แห่ง ได้แก่
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (Rajamangala University Of Technology Lanna) หรือเรียกย่อๆ ว่า “มทร.ล้านนา” เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่งในเก้าแห่ง จากการประกาศใช้ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ.๒๕๔๘ ประกอบด้วยส่วนราชการที่รวมกันจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัย ๖ แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.ล้านนา) ตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานจัดการศึกษาในพื้นที่เขตภาคเหนืออีก ๖ แห่ง ได้แก่ มทร.ล้านนา เชียงราย / มทร.ล้านนา ลำปาง /มทร.ล้านนา น่าน / มทร.ล้านนา ตาก / มทร.ล้านนา พิษณุโลก และสถาบันวิจัยลำปาง
ภาพ/ข่าว - ปภาดา พลอยอิ่ม
คลังรูปภาพ : วันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัย21ก.ย.61
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา