โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา ร่วมกับ อาชีวศึกษาชั้นนำของจีน ผุด หลักสูตร EV, Big Data & AI management, Railway รวมทั้ง Food and Pharmaceutical  รองรับเศรษฐกิจใหม่ | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก

มทร.ล้านนา ร่วมกับ อาชีวศึกษาชั้นนำของจีน ผุด หลักสูตร EV, Big Data & AI management, Railway รวมทั้ง Food and Pharmaceutical รองรับเศรษฐกิจใหม่

เผยแพร่เมื่อ : ศุกร์ 29 กันยายน 2566 โดย อภิญญา พูลทรัพย์ จำนวนผู้เข้าชม 1804 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

         มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ร่วมกับ วิทยาลัยอาชีวศึกษาชั้นนำของจีน 4 แห่ง ในการสร้างหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์สมัยใหม่ (EV), การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ Big Data ด้วย AI, ระบบรางรองรับอุตสาหกรรมรถไฟความเร็วสูง และอิเล็กทรอนิกส์การแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับแพทย์แผนจีนหรือแพทย์ทางเลือก เป็นโครงการ 2+2 โดยทำการศึกษาที่สาธารณรัฐประชาชนจีน 1.5-2 ปี ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ณ มทร.ล้านนาอีกเป็นเวลา 2 ปี   โดยวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อผลิตกำลังคนรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว และอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล

          เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566  อธิการบดี มทร.ล้านนา ได้มอบหมายให้ ผศ.พิสิษฐ์ วิมลธนสิทธิ์ รองอธิการบดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และ Ms.Luo Shasha ตำแหน่ง ASEAN Project Director บริษัท Beijing Huatec Information Technology Co., Ltd สาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าพบ ดร.ภัทรภณ ศิลารักษ์ อธิการโรงเรียนช่องฟ้าซินเซิงวาณิชบำรุงและคณะผู้บริหารโรงเรียน เพื่อประชาสัมพันธ์หลักสูตรดังกล่าวเพื่อเตรียมความพร้อมตัวป้อนระดับโรงเรียนร่วมกัน ทั้งนี้นักเรียนที่จบ ม.6 ของโรงเรียนช่องฟ้าซินเซิงวาณิชบำรุง ทั้งหมดจะมีความสามารถทางด้านภาษาจีนอยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว จึงมีความพร้อมอย่างยิ่งที่จะไปศึกษาต่อ ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน และยังได้หารือการไปศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระยะสั้นในสาขายานยนต์ไฟฟ้า (EV) สาขาการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) วิทยาศาสตร์แพทย์แผนจีน ดังรายงานเบื้องต้น ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในช่วงปิดเทอมใหญ่เดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2567 ของนักเรียนของโรงเรียนโรงเรียนช่องฟ้าซินเซิงวาณิชบำรุงทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย อีกด้วย

          ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.ล้านนา เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา “มทร.ล้านนา เราได้เปิดหลักสูตรใหม่ ที่รองรับอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่อยู่แล้ว คือ วศ.บ.วิศวกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (EV), วศ.บ.วิศวกรรมซอฟแวร์ วศ.บ.วิศวกรรมระบบราง และ วศ.บ.วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และการแพทย์ อีกทั้งในปัจจุบันนวัตกรรมเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรเหล่านี้ทางสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีการพัฒนาไปมาก การพัฒนาและลงทุนห้องปฏิบัติการสำหรับนักศึกษา มทร.ล้านนาจำเป็นต้องใช้งบประมาณที่ค่อนข้างสูงและใช้เวลาหลายปี ถึงตอนนั้นเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็จะถูกพัฒนาก้าวล้ำไปอีกซึ่งอาจจะทำให้ช้าไป ดังนั้นการที่นักศึกษาจะได้ไปเรียนรู้จากแล็ปของสถาบันอาชีวศึกษาชั้นนำในต่างประเทศผู้พัฒนาเทคโนโลยี ที่มีความพร้อมทั้งนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน และภาคอุตสาหกรรมของจีน จะเป็นการเรียนรู้ที่ทันกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ในปัจจุบัน  เราจึงร่วมมือกับ บริษัท Beijing Huatec Information Technology Co., Ltd สาธารณรัฐประชาชนจีน ในนามสถาบันจิงซือ โดยเป็นผู้เชื่อมสถาบันอาชีวศึกษาชั้นนำของจีนและมทร.ล้านนา เพื่อจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ 1+2+1 ของทั้ง 4 หลักสูตรข้างต้น คือ ในปีที่ 1 นักศึกษาจะเรียนที่ มทร.ล้านนา โดยมีอาจารย์จากจีนมาสอนร่วมด้วย ในปีที่ 2 และ ปีที่ 3 ไปเรียนที่ประเทศจีน จบแล้วจะได้รับวุฒิ ปวส.จากสถาบันการอาชีวศึกษาจากจีน และในปีที่ 4 กลับมาเรียนที่ มทร.ล้านนา ให้ครบตามหลักสูตร จะได้รับวุฒิ ปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต ทั้ง 4 หลักสูตร โดยมีค่าใช้จ่าย 50,000 บาทต่อปี (ค่าที่พักและค่าลงทะเบียน)  โดยมี 4 สถาบันที่เข้าร่วมโครงการ คือ 1.Guizhou Light Industry Technical and Vocational College ซึ่งเชี่ยวชาญด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV)  และการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ด้วย AI 2.Nanjing Vocational Institute of Transport Technology เชี่ยวชาญด้านยานยนต์สมัยใหม่ (EV) 3. Liuzhou Railway Vocational Technical College เชี่ยวชาญด้านระบบราง และ 4. Jiangsu Food and Pharmaceutical Science College เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์แพทย์แผนจีน ปัจจุบันได้เริ่มในหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (EV) ไปแล้ว โดยมีนศ.จากมทร.ล้านนาไปเรียนที่จีน 9 คน และเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้จะส่งไปอีก 6 คน  อีกทั้งจากโครงการความร่วมมือ ยังมีคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน EV มาสอนที่ห้องปฏิบัติการ EV มทร.ล้านนา จำนวน 3 ท่าน เป็นต้น และ ในปีการศึกษา 2567 นี้ โดยมทร.ล้านนา จะรับสมัครนักศึกษาทั้ง 4 หลักสูตรเต็มรูปแบบ ทั้งเรียนที่ไทยและส่งไปเรียนที่สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเป็นการเร่งพัฒนาบุคลากรให้ทันตามความต้องการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศต่อไป

           

 






ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา