เผยแพร่เมื่อ : จันทร์ 14 พฤศจิกายน 2565 โดย สกนธ์ เรืองฉาย จำนวนผู้เข้าชม 3119 คน
วันที่14 พฤศจิกายน 2565 เวลา 10.00 น. นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านเป็นประธาน นำข้าราชการพลเรือน ตุลาการ ทหาร ตำรวจในจังหวัดน่าน ประกอบพิธีถวายราชสักการะเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันพระบิดาแห่งฝนหลวง ประจำปี 2565 เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงก่อให้เกิด เทคโนโลยีฝนหลวง ตามโครงการพระราชดำริฝนหลวง ขึ้นมา เพื่อบรรเทาทุกข์ยาก แก่มวลพสกนิกร ให้รอดพ้นจากความแห้งแล้งอย่างสัมฤทธิ์ผล ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติวิทยาลัยสงฆ์นครน่าน อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน
มทร.ล้านนา น่าน โดย ผศ.ดร.กันยาพร ไชยวงศ์ รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ , ผศ.สิทธากร พลาอาด , ผศ.สุเทพ บุญมาบำรุง , และนางเบญจวรรณ คำสองสี เป็นตัวแทนเข้าร่วมพิธีดังกล่าว
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2545 กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเพื่อให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าร่วมถวายราชสดุดีและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ทั้งนี้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริที่จะคิดค้นวิจัยหาวิธีการทำฝนหลวง เพื่อแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของเกษตรกรและประชาชนทั่วไป ที่ประสบภัยแล้ง โครงการพระราชดำริฝนหลวง เป็นโครงการที่ก่อกำเนิดจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดาร ที่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคและเกษตรกรรม อันเนื่องมาจากภาวะแห้งแล้ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากความผันแปรและคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติ กล่าวคือ ฤดูฝนเริ่มต้นล่าช้าเกินไป หรือหมดเร็วกว่าปกติ หรือฝนทิ้งช่วงยาวในช่วงฤดูฝน จากพระราชกรณียกิจในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในทุกภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเห็นว่าภาวะแห้งแล้งได้ทวีความถี่และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงยิ่งขึ้นตามลำดับ เพราะนอกจากความผันแปรและคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติแล้ว การตัดไม้ทำลายป่ายังเป็นสาเหตุทำให้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรและยังส่งผลกระทบในด้านเศรษฐกิจของประเทศ ฉะนั้นประโยชน์จากโครงการฝนหลวง ที่เกิดจากพระปรีชาสามารถและสายพระเนตรอันยาวไกลของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระราชดำริโครงการฝนหลวง เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2498 นับตั้งแต่นั้น ทรงทุ่มเทคิดค้นวิจัยและพัฒนาการทำ “ฝนหลวง” จนประสบความสำเร็จ ฉะนั้น การขานนามพระองค์ว่า “พระบิดาแห่งฝนหลวง” ถือเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณหาใดเปรียบ พระองค์จะสถิตอยู่ในหัวใจพสกนิกรชาวไทยตลอดไป
ขอบคุณข่าว : ประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน
ภาพ : ประชาสัมพันธ์ มทร.ล้านนา น่าน
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา