เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 31 พฤษภาคม 2565 โดย อภิญญา พูลทรัพย์ จำนวนผู้เข้าชม 5099 คน
วันที่ 30 พฤษภาคม 2565 ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในการประชุมหารือและร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่งทั่วประเทศ ในการลงทะเบียนเรียนข้ามมหาวิทยาลัย และการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านระบบธนาคารหน่วยกิตดิจิทัล พร้อมด้วย รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวง นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง และรศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการมหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ในฐานะประธานคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) พร้อมทั้งอธิการบดีจาก มทร.กรุงเทพ มทร.ตะวันออก มทร.พระนคร มทร.รัตนโกสินทร์ มทร.ล้านนา มทร.ศรีวิชัย มทร.สุวรรณภูมิ และ มทร.อิสาน พร้อมประชุมหารือข้อราชการร่วมกับอธิการบดี 9 มทร. ในการผนึกกำลังพัฒนากลุ่มราชมงคล แลกเปลี่ยนแนวคิดจากการดำเนินงานที่ผ่านมาและการบริการจัดการต่อไป รวมรับฟังนโยบายต่างๆ ตามแนวทางของกระทรวง อว. โอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.ล้านนา พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิสิษฐ์ วิมลธนสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายแผน นโยบายและยุทธศาสตร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ สมเกียรติ วงษ์พานิช รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร เข้าร่วมพิธีลงนามความร่วมมือ ณ ศูนย์นวัตกรรมและการเรียนรู้ มทร.ธัญบุรี อาคารบางซื่อจังชั่น จตุจักร กรุงเทพมหานคร
ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ปลัดกระทรวง กล่าวว่า “การร่วมมือกันของ มทร.ทั้ง 9 แห่งครั้งนี้ คือประวัติศาสตร์ของการอุดมศึกษาไทย โดยบันทึกข้อตกลงทั้ง 2 ฉบับ คือสิ่งสำคัญที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ภาคอุตสาหกรรม และตอบสนองความต้องการของนักศึกษาและประชาชน เนื่องจากนโยบายของทางรัฐบาลได้มุ่งเน้นการปฏิรูปการอุดมศึกษาครั้งยิ่งใหญ่และต้องการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการศึกษาในภูมิภาคอาเซียน เอเชีย และก้าวสู่ระดับโลกในอนาคต และการร่วมมือกันในเรื่อง "การลงทะเบียนเรียนข้ามมหาวิทยาลัยของนักศึกษา" และ "การจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตระบบธนาคารหน่วยกิต" คือสิ่งที่จะช่วยให้นักศึกษาได้มีช่องทางการเรียนรู้มากขึ้น ได้รับในสิ่งที่ต้องการหรือได้สะสมความรู้ความสามารถและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ค้นพบสิ่งใหม่ เป็นโอกาสทางการศึกษาและการวิชาชีพ ส่วนเรื่องของการสะสมความรู้ในธนาคารหน่วยกิจแบบดิจิทัล ถือเป็นการนำเทคโนโลยีมาบูรณาการร่วมกับการเรียนการสอนได้อย่างดี สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่บริบทและการใช้ชีวิตของคนส่วนใหญ่หันมาสนใจดิจิทัล สื่อออนไลน์และ Social media มากขึ้น ระบบการเรียนการสอนและความคาดหวังก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไป การร่วมมือกันและสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมต่างๆ ร่วมกัน จะสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน ประเทศไทยและสังคมจะก้าวสู่การพัฒนา นั่นคือเป้าหมายหลักของประเทศและของทุกภาคส่วนที่ต้องบูรณาการร่วมกัน ดังนั้นบทบาทของอุดมศึกษาจึงต้องมีการพัฒนาให้ก้าวนำและตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ อว.พร้อมสนับสนุนในทุกๆ ด้าน และขอให้มีการร่วมมือกันขับเคลื่อนสิ่งดีๆ เหล่านี้ต่อไป เพื่อการอุดมศึกษาไทยก้าวไกลสู่ระดับโลก”
การลงนามความร่วมมือเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง มีด้วยกัน 2 ฉบับ คือ การลงทะเบียนเรียนข้ามมหาวิทยาลัยของนักศึกษาในเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตระบบธนาคารหน่วยกิต เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูล ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และดำเนินการส่งเสริมการการเรียนรู้ทั้งในระบบการศึกษา นอกระบบการศึกษา การศึกษาตามอัธยาศัยและประสบการณ์ เปิดโอกาสในการเรียนรู้ และการเทียบโอนความรู้จากหน่วยงานอื่น ทั้งหน่วยงานการศึกษาและหน่วยงานมาตรฐานวิชาชีพ การสะสมความรู้ในระบบธนาคารหน่วยกิตด้วยเทคโนโลยีระบบธนาคารหน่วยกิตดิจิทัล สอดรับกับการพัฒนาและความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันด้วยความร่วมมือของเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่งที่แข็งแกร่ง ความถนัดและความเชี่ยวชาญของแต่ละ มทร. จะช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนเข้าถึงระบบการเรียนการสอนที่ง่ายขึ้นกว่าเดิม ปลดล็อคข้อจำกัดเดิม ๆ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาส่งเสริมให้ระบบได้รับการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้น ที่สำคัญยังส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้เรียน หรือ Lifelong Learning อีกทั้งพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศในด้าน Re-skill Up – skillและ New skill ที่สอดรับตามแนวทางของกระทรวง อว.
ขอบคุณภาพประกอบและข้อมูลจาก
คลังรูปภาพ : 30-5-65 MOU อว.
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา