เผยแพร่เมื่อ : จันทร์ 11 ตุลาคม 2564 โดย อภิญญา พูลทรัพย์ จำนวนผู้เข้าชม 5416 คน
วันที่ 10 ตุลาคม 2564 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในการกล่าวปิดงาน “โครงการอบรมเพื่อเพิ่มสมรรถนะด้านการออกแบบสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการหัตถกรรมพื้นเมือง สำหรับตลาดในยุค New Normal Creative Design Competency Enhancement of Local Craft Entrepreneurs for New Normal Market Workshop” (Koyori Project 2021) ผลิตภัณฑ์ 8 จังหวัดภาคเหนือ (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ โดยมี ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา รักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.ล้านนา กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมและ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักการวิจัยแห่งชาติ กล่าวรายงานการจัดงาน นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ และได้รับเกียรติจากอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ร่ายบทกวี
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมยินดีเป็นอย่างมากที่วันนี้ได้ชื่นชมผลงานศิลปะเชิงสร้างสรรค์ ความงดงามของศิลปะล้านนาคือการนำเอาความงดงามของศิลปะจากหลายชนเผ่า หลายเชื้อชาติ มาผสมผสานให้เกิดศิลปะที่สวยงาม ล้านนา เป็นเมืองที่มีมรดกวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ด้านงานศิลปะท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน ถึงแม้ว่ากาลเวลาจะผ่านเลยไปแต่สิ่งที่คงอยู่ก็คือศิลปะที่ถูกเก็บรักษาโดยชุมชนที่ร่วมกันอนุรักษ์และสืบสาน และผสมผสานศิลปะให้เกิดรูปแบบใหม่แต่ยังคงไว้ซึ่งความงามของความเป็นล้านนาประเทศของเราจะก้าวสู่ประเทศที่เป็นอารยะหรือประเทศที่เจริญแล้วนั้น เราต้องก้าวเดินไปพร้อมกันทั้งสองด้านคือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือต้องสามารถสนับสนุนงานศิลปะ และอีกด้านคือต้องมีเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์โดยต้องมีวิธีที่จะรวมมรดกทางวัฒนธรรมแบบไทยซึ่งต้องมีความโดดเด่นและแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ด้วย และอยากฝากถึงทุกภาคี ทุกภาคส่วนที่จะมาช่วยกันสืบทอดมรดกทางศิลปะวัฒนธรรม เราต้องลึกซึ้งถึงรากเหง้า เข้าใจปัจจุบันและเท่าทันอนาคต สามสิ่งนี้จะต้องก้าวเดินไปพร้อมกัน อดีต ปัจจุบัน อนาคต ต้องไม่ขาดออกจากกันหากเรามองแต่อดีตไม่คิดถึงอนาคตเราก็จะไม่พัฒนา แต่หากเรามองแต่อนาคตและลืมอดีตที่ผ่านมา ทิ้งรากเหง้าความเป็นตัวตน ก็จะเป็นประเทศที่ไม่สมบูรณ์
ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับประเทศที่มีรากเหง้ามรดกทางวัฒนธรรม ลำดับที่ 6 ของโลก เพราะเรามีบรรพบรุษของเราที่ได้สร้าง ศิลปะ งานช่างและวัฒนธรรมเอาไว้มากมาก และถึงเวลาที่เราต้องนำกลับมาใช้ นำมาสืบสาน ต่อยอดและรักษาให้คงอยู่ต่อไป”
ภายในงานมีการประกาศผล 10 ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคัดเลือกให้ไปจัดแสดงในงาน Design Week ที่กรุงเทพมหานคร จัดโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ CEA และการจัดแสดงสินค้าจากกลุ่มชุมชนโอทอปล้านนาซึ่งเป็นผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของนักออกแบบและครูช่างต้นแบบที่ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะให้มีความน่าสนใจ Koyori Project 2021 เป็นโครงการที่ มทร.ล้านนา เป็นผู้รับผิดชอบและได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษาต่างๆที่ส่งนักศึกษาเข้าร่วมในโครงการ โดยโครงการนี้เราได้ใช้เทคโนโลยีสร้างสรรค์ไปยกระดับสินค้า ผลิตภัณฑ์จากชุมชน แต่ก่อนเป็นโครงการ Koyori เป็นโครงการเล็กๆที่เชื้อเชิญให้ผู้ประกอบการมาเข้าร่วมแต่ในปัจจุบันความสำเร็จมีหลายสถานประกอบที่สนใจเข้าร่วมเป็นอย่างมากซึ่งหลายผลงานได้รับการติดต่อจากร้านค้าให้นำสินค้าไปจัดจำหน่ายในร้านค้าชั้นนำของประเทศ
สำหรับกิจกรรมนี้จัดขึ้นภายใต้โครงการการยกระดับผลิตภัณฑ์หัตถกรรมชุมชนในภาคเหนือตอนบนด้วยนวัตกรรมสร้างสรรค์และทุนทางวัฒนธรรมและทรัพยากรท้องถิ่นสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและการเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่มูลค่าของผลิตภัณฑ์ โดยสมาคมวัฒนหัตถศิลป์ล้านนา ลงพื้นที่การอบรมเพิ่มทักษะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ภายใต้โครงการ Koyori โดยดึงเอาจุดเด่นของวัฒนธรรมในแต่ละผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ผสมผสานกับแนวคิด การออกแบบแฟชั่นดีไซน์ที่เป็นระบบจากผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบจากไทยและต่างชาติ นักออกแบบไทย นักศึกษาในภาควิชาที่เกี่ยวข้อง โดยเทคนิคต่าง ๆ ที่นำมาใช้มีความร่วมสมัยและแสดงออกถึงทักษะอันโดดเด่นของครูช่างไปในเวลาเดียวกัน ในปี2564 นี้ มีกลุ่มชุมชนโอทอปล้านนา 8 จังหวัดภาคเหนือ เข้าร่วมโครงการ จำนวน 30 กลุ่ม มีนักออกแบบจากสถาบันการศึกษาต่างๆ จำนวน 30 คน รวมทั้งมีอาจารย์ที่ปรึกษาจากต่างประเทศและในประเทศไทย ระยะเวลาดำเนินการระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563- เดือนสิงหาคม 2564
คลังรูปภาพ : 10 ตุลาคม 2564
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา