โลโก้เว็บไซต์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ไปมอบปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ประจำปีการศึกษา 2564 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ | กองบริหารทรัพยากร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก

องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ไปมอบปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ประจำปีการศึกษา 2564 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 21 มีนาคม 2566 โดย อภิญญา พูลทรัพย์ จำนวนผู้เข้าชม 1 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

            เวลา 09.52 น. วันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นาย พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ไปมอบปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ประจำปีการศึกษา 2564 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 

            ในการนี้ องคมนตรีถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่ภิกษุสงฆ์ จำนวน 1 รูป และผู้ทรงคุณวุฒิเข้ารับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จำนวน 4 คน ดังนี้

  • ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศิลปศาสตร์)  นายอินทร์จันทร์  บุราพันธ์
  • ปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เกษตรศาสตร์)  นายสุทิน  วงษ์ใหญ่
  •  ปริญญาครุศาสตร์อุตสาหกรรมดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วิศวกรรมไฟฟ้า) นายกฤษณพงศ์  กีรติกร
  •  วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วิศวกรรมโยธา) พระไพศาลประชาทร วิ.(พบโชค ติสฺสวํโส)
  •  ศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  (สิ่งทอและเครื่องประดับ)  นางสาวธีร์วรา ริพล

             และในปีนี้มีผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท จากคณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์และ วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ เข้ารับปริญญาบัตร รวมทั้งสิ้น 1,190 คน 

              โอกาสนี้ องคมนตรีให้โอวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ใจความว่า “ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ นับได้ว่ามีความรู้ในวิชาการ และทักษะในการปฏิบัติ ทั้งได้รับการฝึกฝนอบรมให้มีความอดทนและสู้งาน สามารถเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ให้ก้าวไปสู่ยุคแห่งเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มภาคภูมิ. แต่ถึงแม้ว่าบัณฑิตทุกคนจะสำเร็จการศึกษาแล้ว ก็ยังคงต้องเรียนรู้ต่อไปจนตลอดชีวิต รวมทั้งต้องปรับตัวและปรับวิธีการทำงาน ให้สอดคล้องเหมาะสมกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และนำความรู้ความสามารถที่มีอยู่ มาประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะอำนวยประโยชน์แก่การปฏิบัติงานของตน แก่สังคมส่วนรวม และแก่ประเทศชาติ. พร้อมกันนั้น ก็พึงระลึกไว้เสมอว่า แม้จะต้องพัฒนาตนพัฒนางานให้ก้าวทันเทคโนโลยีอยู่เสมอ แต่ก็ไม่ควรละทิ้งความอ่อนน้อมถ่อมตน ความกตัญญูระลึกรู้คุณความดีของผู้อื่น  และความภาคภูมิใจในความเป็นเป็นไทย ถ้าปฏิบัติให้ได้ดังนี้ แต่ละคนก็จะสามารถสร้างสรรค์ความเจริญมั่นคง ให้แก่ตนเองและประเทศชาติได้อย่างแท้จริง.”

 

 








ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา