โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา ร่วมประกอบพิธีวันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประจำปี 2565 | กองการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก

มทร.ล้านนา ร่วมประกอบพิธีวันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประจำปี 2565

เผยแพร่เมื่อ : จันทร์ 11 กรกฎาคม 2565 โดย อภิญญา พูลทรัพย์ จำนวนผู้เข้าชม 1 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

             วันที่ 11 กรกฎาคม 2565  ดร.ศิรประภา ชัยเนตร  ผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ร่วมประกอบพิธีวันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประจำปี 2565 เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนารายณ์มหาราช 11 กรกฎาคม เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยาโดยมีนายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการประกอบพิธี ณ ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่

             สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 27 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเป็นพระโอรสของพระเจ้าปราสาททอง และพระราชเทวีศิริธิดา เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ เดือนยี่ ปีวอกตรงกับวันที่ 16 ก.พ. พ.ศ. 2175 เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ เมื่อวันพฤหัสบดี แรม 2 ค่ำ เดือน 12จุลศักราช 1018 ปีวอก ตรงกับวันที่ 15 ต.ค. พ.ศ. 2199 ขณะทรงเจริญพระชนมายุ 25 พรรษาโดยมีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระรามาธิบดี ที่ 3ตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงสร้างความรุ่งเรืองและความยิ่งใหญ่ให้แก่กรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างมากใน หลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านการต่างประเทศที่ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการติดต่อทั้งด้านการ ค้าและการทูตกับประเทศต่างๆ ทั้งการแต่งตั้งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศส และต้อนรับชาวต่างชาติให้เข้ามาในราชอาณาจักรและช่วยราชการหลายรายขณะเดียวกันพระองค์ยังทรงรับเอาวิทยาการสมัยใหม่จากต่างประเทศเข้ามา ประยุกต์ใช้ในราชอาณาจักรเช่นยุทโธปกรณ์ต่างๆ กล้องดูดาว รวมไปถึงเทคโนโลยีการสร้างน้ำพุ และการวางระบบท่อประปาภายในพระราชวัง

             นอกจากนี้ พระองค์ได้ทรงอุปถัมภ์กวีคนสำคัญในยุคของพระองค์อย่างพระโหราธิบดีผู้ประพันธ์หนังสือจินดามณีซึ่งถือเป็นตำราเรียนภาษาไทยเล่มแรก และศรีปราชญ์ ซึ่งมีผลงานด้านวรรณกรรมที่เป็นที่รู้จักมากมาย ทำให้ศิลปะแขนงดังกล่าวมีความรุ่งเรืองอย่างมากในยุคนั้น รวมทั้งยังโปรดเกล้าฯให้สร้างเมืองลพบุรีขึ้นเป็นราชธานีแห่งที่ 2 ในรัชสมัยของพระองค์อีกด้วย 





ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา