โลโก้เว็บไซต์ ขอเชิญเข้ารับการอบรมออนไลน์ของสำนักงานมาตรฐานการวิจัยในมนุษย์ E-learning | กองการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก

ขอเชิญเข้ารับการอบรมออนไลน์ของสำนักงานมาตรฐานการวิจัยในมนุษย์ E-learning

เผยแพร่เมื่อ : ศุกร์ 10 เมษายน 2563 โดย รัตนา ไชยคต จำนวนผู้เข้าชม 1 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

https://ohrs.nrct.go.th/E-learning 

สถาบันวิจัยและพัฒนาขอเชิญนักวิจัยที่เกี่ยวข้องกับลักษณะการทำวิจัยดังต่อไปนี้เข้ารับการอบรมออนไลน์มาตรฐานการวิจัยในมนุษย์

1. งานวิจัยที่ต้องผ่านการพิจารณาทบทวนแบบกรณียกเว้น (Exemption Review)

1.1 งานวิจัยด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนการสอนปกติในชั้นเรียน ซึ่งดำเนินการวิจัยในสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน

1.2 งานวิจัยยุทธศาสตร์ที่เป็นนวัตกรรมทางการศึกษาตามนโยบายของชาติหรือนโยบายของสถาบัน เพื่อพัฒนาด้านการศึกษา ได้แก่ การวิจัยเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน/นักศึกษาเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน เพื่อประเมินหลักสูตร เพื่อการสร้างหรือปรับปรุงหลักสูตร เพื่อประกันคุณภาพการศึกษา

1.3 งานวิจัยเพื่อหาวิธีประเมินการศึกษาในด้านกระบวนการทางความคิดที่ทำให้เกิดความเข้าใจของบุคคล (cognitive) ด้านการวินิจฉัย (diagnostic) ด้านความถนัด (aptitude) และด้านความสำเร็จ (achievement) ที่ไม่มีการบันทึกข้อมูล  ที่ทำให้ระบุตัวตนของผู้มีส่วนร่วมในการวิจัยได้

1.4 งานวิจัยที่ใช้ข้อมูลจากคลังข้อมูลสาธารณะออนไลน์ หรืองานวิจัยเอกสารทุติยภูมิที่ไม่มีข้อมูลระบุตัวตนบุคคลได้ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เพื่อการวิเคราะห์ ตีความ ประมวล และสังเคราะห์ข้อค้นพบจากงานวิจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวกับบุคคล/กลุ่มบุคคล เพื่อให้ได้ข้อสรุป มุมมอง หรือข้อยุติ ซึ่งเป็นความคิดใหม่หรือองค์ความรู้ใหม่

1.5 งานวิจัยเชิงสำรวจข้อเท็จจริงหรือความคิดเห็นของประชากรในชุมชนหรือในสังคมในวงกว้างที่ปราศจากอคติ (bias) หรือข้อสันนิษฐานล่วงหน้า (presupposition) โดยใช้วิธีสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์และหรือขอให้ผู้มีส่วนร่วมในการวิจัยตอบแบบสอบถามซึ่งไม่มีการระบุชื่อผู้ตอบทั้งทางตรงและทางอ้อม

1.6 งานวิจัยที่ใช้วิธีเฝ้าสังเกตและจดบันทึกพฤติกรรมของประชากรในชุมชนหรือในสังคม โดยไม่มีการบันทึกเสียง การถ่ายภาพ คลิป วีดิทัศน์ หรือภาพยนตร์ เพื่อการวิเคราะห์และสังเคราะห์ทางทฤษฎีหรือสำหรับใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการตัดสินใจหรือการกำหนดนโยบายและแผนของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน

1.7 งานวิจัยที่เกี่ยวกับภาษา คติชน วัฒนธรรม สังคม และศิลปะ ที่เก็บข้อมูลจากเอกสารผสมผสานกับการสัมภาษณ์พูดคุย  ตีความประมวล และสังเคราะห์ข้อค้นพบจากงานวิจัยอื่นๆ ที่ประกอบการสัมภาษณ์ปราชญ์ชาวบ้านหรือผู้มีความรู้ความชำนาญในเรื่องพื้นถิ่นซึ่งมีความภูมิใจในสมบัติล้ำค่าทางภูมิปัญญาของชุมชน ศิลปิน      มีการบันทึกเสียง การถ่ายภาพ หรือการ  ถ่ายทำวีดิทัศน์ เพื่อการแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ เพื่อการธำรงรักษาและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อการผลิตผลงานสร้างสรรค์ และเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และ/หรือเชิงสร้างสรรค์ (ในกรณีนี้กลุ่มตัวอย่าง/ผู้มีส่วนร่วมในการวิจัยที่เป็นชนกลุ่มน้อยต่างเชื้อชาติและ/หรือศาสนาจะไม่ถือว่าเป็นกลุ่มผู้เปราะบาง/กลุ่มผู้ด้อยโอกาส)

1.8 งานวิจัยสร้างสรรค์หรือออกแบบซึ่งส่วนหนึ่งของขั้นตอนการวิจัยมีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับรสนิยม ทัศนคติ ความพึงพอใจของบุคคลที่มีต่อวัตถุ สิ่งของ สินค้า สิ่งปลูกสร้างและอาคารที่พักอาศัย งานบริการสาธารณะ บรรยากาศในการจัดงานการแสดงหรือนิทรรศการ ธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อม โดยการสัมภาษณ์บุคคลและ/หรือขอให้บุคคลตอบแบบสอบถามที่ไม่มีการระบุชื่อเป็นรายบุคคล และเสนอรายงานผลการวิจัยที่เป็นภาพรวม

1.9 การวิจัยเพื่อสร้างและพัฒนาแอพพลิเคชั่น (application) เพื่อการแปลภาษา หรือการเรียนการสอนภาษา หรือการศึกษาภาษาด้วยตนเอง โดยใช้เสียงพูดของคนประกอบบทเรียน สำหรับผู้ประกอบอาชีพเฉพาะทาง อาทิ คนขายของที่ระลึก หมอนวดแผนไทย คนขับรถแท็กซี่และขับรถตุ๊กๆ พนักงานโรงแรม ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เป็นต้น

ทั้งนี้ ยกเว้นการศึกษาในกรณี 1.5-1.9 ที่ทำกับกลุ่มผู้เปราะบาง/กลุ่มผู้ด้อยโอกาส

2. งานวิจัยที่ต้องผ่านการพิจารณาทบทวนแบบลดขั้นตอน (Expedited Review)

2.1 งานวิจัยที่เก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่าง/ผู้มีส่วนร่วมในการวิจัยที่เป็นเด็กปกติอายุต่ำกว่า 18 ปี    ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ข้อ 1.5-1.9 ของการพิจารณาทบทวนแบบกรณียกเว้น

2.2 งานวิจัยที่มีการสัมภาษณ์เชิงลึก และ/หรือ การสนทนากลุ่ม และ/หรือตอบแบบสอบถาม     ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัว และอาจเป็นการเปิดเผยความลับของกลุ่มตัวอย่าง/ผู้มีส่วนร่วมในการวิจัย แม้ว่าผู้วิจัยจะมีมาตรการและวิธีป้องกันอย่างเหมาะสมก็ตาม

2.3 งานวิจัยเอกสารผสมผสานกับการใช้เทคนิควิธีการทางประวัติศาสตร์บอกเล่า (oral history) เกี่ยวกับบุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งอาจมีผลกระทบด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ หรือความสงบเรียบร้อยภายในชาติ

2.4 งานวิจัยที่ใช้ข้อมูลทุติยภูมิจากบันทึกส่วนตัวของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะชนแล้ว และ/หรือข้อมูลปฐมภูมิที่ยังไม่เคยเผยแพร่มาก่อน ข้อมูลนั้นอาจอยู่ในรูปของเอกสารที่เป็นลายมือเขียนหรือตัวพิมพ์ หรือภาพซึ่งเนื้อหาสาระของข้อมูลเป็นเรื่องเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

2.5 งานวิจัยที่กลุ่มตัวอย่าง/ผู้มีส่วนร่วมในการวิจัยอาจได้รับความเดือดร้อน เสียหาย เช่น เป็นที่โกรธเคืองหรือเกลียดชังของคนในสังคม ถูกปรับ ถูกฟ้องร้อง หรือเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ เป็นต้น

2.6 งานวิจัยด้านศิลปะและศิลปะการแสดงทุกแขนงที่เนื้อหาสาระของเรื่องที่นำมาจัดแสดง เป็นเรื่องเกี่ยวกับบุคคลที่มีความล่อแหลมต่อศีลธรรมจรรยา หรือเป็นการปลุกระดมให้เกิดกระแสที่คนส่วนใหญ่ในสังคมไม่พึงประสงค์

2.7 งานวิจัยที่เป็นการศึกษาเปรียบเทียบหรือการศึกษาเปรียบต่างเกี่ยวกับรสนิยมหรือความชอบของบุคคลต่างอาชีพ ต่างสถานะ ต่างเชื้อชาติ ต่างเพศ ต่างวัย ว่าด้วยเรื่องการรับรู้สิ่งเร้าที่เป็นรูป รส กลิ่น เสียง แสง สี หรือสัมผัส ที่อาจมีผลกระทบต่อร่างกายหรือจิตใจของผู้มีส่วนร่วมในการวิจัย

2.8 งานวิจัยทางภาษาหรือภาษาศาสตร์ที่เกี่ยวกับวัจนภาษาของผู้มีเพศทางเลือก โดยเก็บข้อมูลด้วยการบันทึกเสียง การสนทนาและ/หรือการสัมภาษณ์ และการให้ตอบแบบสอบถาม มีการถ่ายภาพ คลิป หรือ     วีดิทัศน์ ทั้งนี้ เมื่อโครงการวิจัยเสร็จสมบูรณ์ ผู้วิจัยอาจเก็บข้อมูลที่บันทึกไว้เหล่านั้นเพื่อประโยชน์ต่องานวิชาการ และ/หรือสังคมในอนาคตได้ หากผู้มีส่วนร่วมในการวิจัยยินยอม

2.9 งานวิจัยเกี่ยวกับเสียงในภาษาที่ต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางสัทศาสตร์ (phonetic instruments) การทดสอบและการทดลองเกี่ยวกับการรับรู้เสียงในภาษา การรับรู้และการเรียนรู้ภาษาแม่ การรับรู้และการเรียนรู้ภาษาที่สองหรือภาษาต่างประเทศที่ผู้วิจัยมีปฏิสัมพันธ์โดยตรง (direct contact) กับผู้มีส่วนร่วมในการวิจัย

10. งานวิจัยเกี่ยวกับการทำแผนที่ภาษาและแผนที่กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้ข้อมูลปฐมภูมิที่ได้จากแบบสอบถามและ/หรือการสอบถามเจ้าหน้าที่และผู้รู้ในท้องถิ่น

สามารถเข้ารับการอบรมออนไลน์ ทางเว็ปไซด์ https://ohrs.nrct.go.th/E-learning ผ่านระบบการเรียนรู้ของทางสำนักงานมาตรฐานการวิจัยในคนได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียน 




ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา