เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 12 กันยายน 2566 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 3148 คน
วันที่ 12 กันยายน 2566 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ร่วมกับ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจผู้ประกอบการรายย่อยและองค์กรชุมชน ธนาคารออมสิน และธนาคารออมสินภาค 8 จัดเวทีการนำเสนอผลสัมฤทธิ์โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ประจำปี 2566 โรงแรมคุ้มภูคำเชียงใหม่ โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.ล้านนา เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย คุณวิลานี แซ่แต้ ฝพธย. คุณวิไลพร พราหมณะนันทน์ ผอข.เชียงใหม่ 2 คุณภัคธินันท์ กิตติวรเสนีย์ ผจส.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คุณจรรยพร อนันตพรรค ชฝพธย.อ.2 คุณนคร สุวรรณกาศ ชอภ.8 หน่วยพัฒนาสังคมและชุมชน คุณปริยาธรณ์ เพชรสันทัด ชอภ.9 หน่วยพัฒนาสังคมและชุมชน และทีมงาน ร่วมเป็นคณะกรรมการพร้อมให้คำแนะนำ โดยมีทีมนักศึกษาเข้าร่วมการนำเสนอผลสัมฤทธิ์จากการเข้าไปพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้กับชุมชน จำนวน 6 กลุ่ม ได้แก่
1. ทีมสะเกี้ยงมินิคอฟฟี่ (Sakiang Mini Coffee) วิสาหกิจชุมชนกาแฟแปลงใหญ่ไทยลั๊วะหก บ้านบนขุนน่าน (แชมพูกาแฟอราบิก้า)
2. ทีมอรรถรส (At Tha Road) ชุมชนท่องเที่ยวทากาศเหนือ (ท่องเที่ยวชุมชน)
3. ทีม Soft Power Team ศูนย์หัตถกรรมร่มโบราณ (จ้องแดงบ้านดอนเปา) (ท่องเที่ยวชุมชน)
4. ทีมนักศึกษาร่วมพัฒนาพาแอ่ว ชุมชนเทศบาลตำบลป่าเมี่ยง (ท่องเที่ยวชุมชน)
5. ทีม Hottie คิดนอกกรอบ กลุ่มผ้าทอกะเหรี่ยงฮอด (ผ้าทอกะเหรี่ยงฮอด)
6. ทีมฟินน์ (Finn) วิสาหกิจชุมชนตำบลเขื่อนผาก (น้ำพริกน้ำปูผงสำเร็จรูป)
สำหรับทีมนักศึกษาที่ได้รับรางวัลผลงานการพัฒนาดีเด่น (The Best) ได้แก่ ทีมฟินน์ (Finn) และได้เป็นตัวแทนเข้าร่วมการประกวดในระดับประเทศเพื่อรับรางวัล Best of the Best โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ประจำปี 2566 ต่อไป โดยทีมฟินน์ (Finn) ได้ร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาน้ำปูกึ่งสำเร็จรูปเพียงเติมน้ำหรือโรยบนอาหาร พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานของสินค้าให้ถูกสุขลักษณะ สะอาด ปลอดภัยก่อนถึงมือผู้บริโภค และยังสามารถเก็บไว้ได้นาน ปราศจากเชื้อรา รวมถึงการส่งเสริมให้ได้รับมาตรฐานอาหารและยา (อย.) และการสร้างความร่วมมือกับองค์กรเอกชนในการทำ OEM หลังจากการพัฒนาของนักศึกษาทำกลุ่มชุมชนให้มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 78.6
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี ในการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน ท้องถิ่น สังคมอย่างยั่งยืนได้ร่วมกับธนาคารออมสิน ในการนำวิทยาการกระบวนการทำงานสมัยใหม่ ไปยกระดับขีดความสามารถกลุ่มองค์กรชุมชนที่รวมตัวกันสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการ ให้มีศักยภาพ มีมูลค่าเพิ่ม แข่งขันในตลาดได้ และสามารถบูรณาการร่วมกับภูมิปัญญาและทรัพยากรด้านต่างๆของท้องถิ่น เพื่อยกระดับยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์หรือบริการของชุมชน ให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ทำให้ชุมชนมีรายได้มั่นคง เกิดความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และรวมถึงโครงการดังกล่าวยังส่งเสริมให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ เข้าใจวิถีชีวิต เอกลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นในอนาคตต่อไป (คลิกดาวน์โหลดภาพกิจกรรม !!!)
(ขอบคุณข้อมูลจากเครือข่ายงานสื่อสารองค์กร สถช.มทร.ล้านนา)
คลังรูปภาพ : ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ประจำปี 2566
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา