โลโก้เว็บไซต์ คณะผู้บริหาร มทร.ล้านนา ถวายรายงานผลการสนองงานพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ประจำปี 2562 | คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก

คณะผู้บริหาร มทร.ล้านนา ถวายรายงานผลการสนองงานพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ประจำปี 2562

เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 25 กุมภาพันธ์ 2563 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 7442 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

     วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563  ดร.สว่าง ภู่พัฒน์วิบูลย์ ประธานกรรมการคณะบุคคลปฏิบัติหน้าที่แทนสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ล้านนา พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ศีลศิริ สง่าจิตร ผู้ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี และคณะผู้บริหาร คณาจารย์และบุคลากร  เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินการสนองงาน ณ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประจำปี พ.ศ. 2562 โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ และพระราชทานพระราชานุมัติให้ดำเนินการสนองงานจำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย

                   1. โครงการพัฒนาพันธุ์และรักษาพันธุ์พืชผักและพืชอาหาร 11 ชนิด

                   2. โครงการผลิตเมล็ดผักประจำปี 2562

                   3. โครงการบริหารจัดการควบคุมศัตรูพืชอย่างปลอดภัยในศูนย์พัฒนาพันธุ์พืช  จักรพันธ์เพ็ญศิริ    

                   4. โครงการผลิตแตงกวาผลสั้น แตงกวาผลยาว มะเขือเทศจักรพันธ์ 1 (เบอร์ 2) และมะเขือเทศจักรพันธ์ 2 (เบอร์ 4) ตลอดทั้งปีในพื้นที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ โดยมีผลการดำเนินงานประจำปี 2562 ดังนี้   

โครงการที่ 1 การพัฒนาพันธุ์และรักษาพันธุ์พืชผักและพืชอาหาร 11 ชนิด

          เป็นการพัฒนาพันธุ์พืช 11 ชนิด ได้แก่ 1.พริก 2.มะเขือเทศ 3.มะเขือเปราะ 4.แตงกวา 5.ถั่วฝักยาว 6.ถั่วไร้ค้าง 7.คะน้า 8.กวางตุ้ง 9.บวบเหลี่ยม 10.ฟักทอง 11.ข้าวโพดเทียนหวาน แนวทางการพัฒนาพันธุ์พืชยึดหลักการอยู่ 3 ลักษณะคือ

1. ใช้ฐานพันธุกรรมพืชผักพื้นเมืองที่มีลักษณะแข็งแรงทนทานปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีเป็นหลัก และเสริมด้วยพันธุกรรมที่มีการพัฒนาแล้ว รวมทั้งการคัดเลือก และพัฒนาพันธุ์ให้เป็นพันธุ์ผสมเปิด เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ปลูกเองได้ต่อเนื่อง

          2. คัดเลือกให้ได้พันธุ์ที่เจริญเติบโตได้ดี มีความแข็งแรงทนทานต่อโรค และแมลง

          3. มีผลผลิตที่ดี ทั้งปริมาณ และคุณภาพ ใกล้เคียงกับพันธุ์การค้า

     ตลอดระยะเวลาที่ร่วมสนองงานศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้พัฒนาพันธุ์พืชทั้ง 11 ชนิดมาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้แนวทางทั้ง 3 แนวทางดังกล่าว จากนั้นนำพันธุ์พืชที่คัดเลือก และพัฒนาให้เป็นพันธุ์ที่ดีพอสมควรแล้ว ดำเนินการปลูกรักษาพันธุ์ คัดเลือกพันธุ์ในกลุ่มประชากรอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการผลิตเมล็ดพันธุ์ และในปี พ.ศ.2562 เตรียมที่จะดำเนินการส่งมอบข้อมูลพันธุ์ มะเขือเปราะ ให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ พิจารณาขึ้นทะเบียนพันธุ์  

      ในโอกาสนี้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานชื่อพันธุ์มะเขือเปาะ (เบอร์ 2) ว่า "มะเขือเปราะเพชรล้านนา"  สำหรับ "มะเขือเปราะเพชรล้านนา"ที่ได้รับพระราชทานชื่อพันธุ์ในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้รวบรวมจากสายพันธุ์ทางการค้าและสายพันธุ์ทั่วไปจากเกษตกร นำมาปลูกและบำรุงพันธุ์ด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ภายในศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา โดยมีการคัดเลือกต้นพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์มาปลูกต่อเนื่องอีก 8 รุ่น จึงได้มะเขือเปาะที่มีลักษณะผลเหมาะสมสำหรับทานสด มีความต้านทานต่อโรคและแมลงเป็นอย่างดี และสามารถให้ผลผลิตต่อไร่สูงในอัตราส่วน 2,000 กิโลกรัม/ไร่  เมื่อเปรียบเทียบกับมะเขือเปาะที่ปลูกในระบบทั่วไป ซึ่งมีจุดเด่นตรงตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ทุกประการ ดังนั้นคณะทำงานอันประกอบด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ นักวิชาการ และนักวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จึงเห็นควรให้มีการขอพระราชทานชื่อ เพื่อดำเนินการเสนอต่อกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำการขึ้นทะเบียนชื่อพันธุ์อย่างเป็นทางการและนำเข้าสู่กระบวนการส่งเสริมให้เกษตรกรทำการปลูกเพื่อสร้างรายได้ต่อไป

โครงการที่ 2 การผลิตเมล็ดผักประจำปี 2562

          ดำเนินการผลิตเมล็ดพันธุ์ประจำปี 2562 จำนวน 6 ชนิดพืช ได้แก่ แตงกวาผลยาว พริกหนุ่ม ผักกาดกวางตุ้ง(ใบ) ผักคะน้า มะเขือเทศจักรพันธ์ 2 (เบอร์ 4) และมะเขือเปราะ คาดว่าจะส่งครบตามจำนวนที่ได้กำหนดไว้ในเดือน พฤษภาคม 2563

โครงการที่ 3 การบริหารจัดการควบคุมศัตรูพืชอย่างปลอดภัยในศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ

      เพื่อเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สนับสนุนการใช้สารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มีการดำเนินงานสนับสนุนการผลิตสารชีวภัณฑ์ สารสกัดจากพืช เชื้อรากำจัดแมลง เชื้อราป้องกันกำจัดโรคพืช ให้เพียงพอในการใช้งาน สนับสนุนและให้คำแนะนำการใช้ไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงศัตรูพืช และการจัดตั้งห้องปฏิบัติการการผลิตชีวภัณฑ์ของศูนย์จักรพันธ์เพ็ญศิริ

โครงการที่ 4 การผลิตแตงกวาผลสั้น แตงกวาผลยาว มะเขือเทศจักรพันธ์ 1 (เบอร์ 2) และ มะเขือเทศจักรพันธ์ 2 (เบอร์ 4) ผลสดทั้งปีในพื้นที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ 

  • แตงกวา แผนการเก็บเกี่ยวผลผลิตส่ง ผลผลิตทั้งหมด 1,200 กิโลกรัม/ปี โดยปัจจุบันสามารถส่งผลผลิตได้รวม 1,738.7 กิโลกรัม
  • มะเขือเทศ แผนการเก็บเกี่ยวผลผลิตส่ง ผลผลิตทั้งหมด 1,200 กิโลกรัม กิโลกรัม/ปี โดยปัจจุบันสามารถส่งผลผลิตได้รวม 1,573.2 กิโลกรัม 

      สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงดำเนินการจัดตั้ง "ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ" ขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในวาระครบรอบ 100 ปี พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ณ ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อทรงใช้ประโยชน์ในกิจกรรมของมูลนิธิชัยพัฒนา ในครั้งที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2552 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ทรงมีพระราชกระแสรับสั่ง ให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เข้าร่วมดำเนินกิจกรรมด้านพืชกับศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ในการรวบรวมพันธุ์พืชอาหารพื้นบ้าน ปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์พืชให้เกษตรกร ได้มีพืชที่มีสายพันธุ์ที่ดี ทนทานต่อโรคและแมลง ได้ผลผลิตที่ดีที่จะคัดเลือกพันธุ์ที่ดี เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานให้แก่ราษฎรทั่วไปรวมถึงราษฎรที่ประสบภัยพิบัติเพื่อให้เกษตรกรนำพันธุ์ไปขยายหรือปลูกเอง เป็นรายได้เลี้ยงชีพในอนาคต
นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้ร่วมแรงรวมพลังสานต่อพันธกิจ ของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ เรื่อยมา โดยมีคือภารกิจหลักคือ
1. การพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พืช
2. การทดสอบความเสถียรของพันธุ์พืช
3. การผลิตเมล็ดพันธุ์ผักพื้นเมืองพันธุ์ดี
4. การผลิตต้นกล้าไม้ผลพื้นเมือง
5. การผลิตพืชผลสด
6. การบริหารจัดการควบคุมศัตรูพืชอย่างปลอดภัยภายในศูนย์ และชุมชนเครือข่าย
การดำเนินการทำให้เกิดพันธุ์ใหม่ๆ หลากหลายสายพันธุ์และยังสามารถอนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นบ้านที่เกือบสูญหาย สามารถศึกษาองค์ความรู้ใหม่จากการพัฒนาพันธุ์พืชคณาจารย์ได้พัฒนาองค์ความรู้และความสามารถทางวิชาการ นักศึกษาได้รับการพัฒนาความรู้จากการฝึกปฏิบัติจริง Social Lab เกิดการบูรณาการการทำงานระหว่างคณะต่างๆอีกด้วย

 
         








ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา